คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น การติดต่อสื่อสาร การค้าขาย แม้กระทั่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ล้วนอาศัยคณิตศาสตร์ทั้งสิ้น และกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เป็นการศึกษาที่เปิดโอกาสให้เยาวชนทุกคน ได้เป็นผู้ที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ที่พอเพียง สามารถนำความรู้และทักษะกระบวนการไปเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อ ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของสถานศึกษาที่ต้องจัดสาระการเรียนรู้ให้เหมาะสมแก่ผู้เรียนแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ซึ่งชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) เป็นกลยุทธ์การแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์วิธีการหนึ่ง ที่ได้ใช้การวาดแถบเส้น หรือเส้น หรือวาดรูปเรขาคณิตเพื่อแสดงสถานการณ์ของโจทย์ แล้วสามารถมองเห็นแนวทางการหาคำตอบได้ง่ายขึ้น สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของข้อมูลในโจทย์ปัญหาที่เป็นนามธรรม โดยนำเสนอผ่านแถบเส้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อให้นักเรียนมองเห็นภาพและเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งที่โจทย์กำหนดให้ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นวิธีที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนา องค์ความรู้ในการแก้โจทย์ปัญหาขั้นสูง การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75 /75 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียน ด้วยชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนบ้านกอกวิทยาคม กลุ่มสถานศึกษาที่ 9 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3 จำนวน 28 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้ามี 3 ชนิด ได้แก่ ชุดแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 13 เล่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.51 ถึง 0.82 และมีความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.80 แบบวัดความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ ด้วยชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนก (rxy) ตั้งแต่ 0.27 ถึง 0.68 และมีความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.73 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) กลุ่มสาระ การเรียนรู้คณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ 84.32/81.48 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2. นักเรียนที่เรียนด้วยชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
3. ค่าดัชนีประสิทธิผลของชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีค่าเท่ากับ 0. 6732 แสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียน ร้อยละ 67.32
4. นักเรียนที่เรียนด้วยชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) มีความพึงพอใจต่อกิจกรรมการเรียนรู้โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้รูปบาร์โมเดล (Bar Model) ดังกล่าว
มีคุณภาพเหมาะสม สามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อีกวิธีหนึ่ง